วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เปิดแอร์ 25 องศา ประหยัดไฟจริงรึป่าว

สำหรับประเทศไทยแล้ว ครึ่งหนึ่งของค่าไฟฟ้าที่ใช้ในอาคารและบ้านเรือน คือพลังงานเพื่อการปรับอากาศ ดังนั้น นอกเหนือจากการกำหนดให้อาคารที่จัดสร้างขึ้นใหม่บางประเภทต้องมีการออกแบบเพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานในอาคารแล้ว การประชาสัมพันธ์ให้ เปิดแอร์ที่ 25 องศา คืออีกหนึ่งมาตรการที่มีการรณรงค์ผ่านสื่อหลายแขนงไปสู่ประชาชนทั่วไป

คำถามก็คือ 25 องศาคืออะไร ทำไมต้อง 25 องศา และ ตัวเลขนี้เหมาะกับเมืองไทยหรือไม่

ดร.จันทกานต์ ทวีกุล จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ภาวะน่าสบาย (Thermal Comfort) คือตัวเลขของสภาพแวดล้อมต่างๆ ภายในอาคารที่ถูกกำหนดขึ้นในต่างประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานที่จะใช้ประกอบออกแบบและก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ที่จะทำให้ผู้อยู่ในอาคารหลังนั้น มีความสบายมากที่สุด โดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงานไปพร้อมกัน

ตัวเลข 25 องศาเซลเซียส คือหนึ่งในตัวเลขของมาตรฐานภาวะน่าสบายในอาคาร ที่ภายใต้มาตรฐานนี้ยังประกอบด้วยค่าอื่นๆ อีกหลายตัว เช่น ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณแสงส่องสว่าง ความเร็วลม ฯลฯ ตัวเลขทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นตัวเลขที่ตายตัวสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยมีความสัมพันธ์กันเชิงสมการที่ได้จากการทดลองและวิจัยที่มีการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในประเทศตะวันตก และได้ถูกนำมาบอกกล่าวกับคนไทยว่า เป็นตัวเลขอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยในอาคารแถบเมืองร้อน ทั้งที่ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าเราได้กำหนดอุณหภูมิสำหรับภาวะสบายนี้ไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส

ดร.จันทกานต์ ตั้งคำถามว่า การทำให้อุณหภูมิในห้องลงมาอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ประมาณ 35 องศาเซลเซียส สำหรับประเทศเขตร้อนเช่นเมืองไทยนั้น ย่อมต้องหมายถึงการใช้เครื่องปรับอากาศเพียงอย่างเดียว ขณะที่การปลูกบ้านหลังคายกสูง และทำให้มีอากาศจากภายนอกที่แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ไหลผ่านโดยสะดวก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาคนไทยในการสร้างที่อยู่อาศัยนั้น ก็สามารถสร้างสภาวะน่าสบายได้เองที่อุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส โดยไม่ต้องมีการใช้เครื่องปรับอากาศแต่อย่างใด ซึ่งข้อมูลภาครัฐระบุว่าการเพิ่มอุณหภูมิห้อง 1 องศาเซลเซียส จะลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น งานวิจัยเพื่อให้เกิด องค์ความรู้ ที่จะนำไปสู่การกำหนด สภาวะน่าสบาย ที่เหมาะสมกับประเทศไทยอย่างแท้จริง ที่จะสามารถนำไปใช้เชิงนโยบายและการรณรงค์เพื่อการประหยัดพลังงาน จึงเป็นหนึ่งในข้อเสนอของการประชุมสัมมนาประจำปีของ JGSEE เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา

คำถามก็คือ สภาวะความน่าสบายที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทย จะอยู่ที่อุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียสได้หรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง นอกจากจะสามารถรณรงค์เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานจากการปรับอากาศที่อุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาได้แล้ว ยังนำไปสู่ความเป็นไปได้ในการพัฒนาอาคารที่อยู่อาศัยที่สามารถสร้างสภาวะน่าสบาย โดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ (หรือใช้น้อยลง) ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งว่า ในฐานะนักวิชาการเราตอบไม่ได้ เพราะเรานำตัวเลยนี้มาจากต่างประเทศ แต่หากเรามีการวิจัยกันจริง ๆ ก็มั่นใจว่าจะสามารถกำหนดอุณหภูมิน่าสบายของไทยได้ ดร.อัจฉราพรรณ จุฑารัตน์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าว

ดร.อัจฉราพรรณ กล่าวถึงงานวิจัยที่ JGSEE จะดำเนินการในช่วง 3 ปี ข้างหน้านี้ จะประกอบไปด้วยการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดภาวะน่าสบายสำหรับประเทศไทย (Thermal Comfort for Thailand) พร้อมทั้งการพัฒนาโปรแกรมที่เมื่อใส่ค่าตัวเลขต่างๆ ในเชิงวิศวกรรมและการออกแบบลงไปแล้ว จะสามารถคำนวณตัวเลขได้ว่าอาคารหลังที่จะสร้างนั้นจะทำให้ผู้อยู่ในอาคารเกิดภาวะน่าสบายได้หรือไม่ และสุดท้ายคือการพัฒนาโปรแกรมการออกแบบอาคารที่จะสามารถทำให้สถาปนิกและวิศวกรสามารถออกแบบอาคารที่ให้ความสบายกับผู้อาศัยในอาคารโดยคำนึงถึงเรื่องการประหยัดพลังงานไปพร้อมๆ กัน

สำหรับตัวเลข 25 องศาเซลเซียสนั้น นักวิจัย JGSEE ทั้งสองท่านกล่าวว่า แม้ว่าตัวเลขอุณหภูมิของสภาวะน่าสบายแบบไทยๆ ยังไม่ออกมา แต่การใช้พัดลมร่วมกับเครื่องปรับอากาศ ก็ทำให้เราสามารถเพิ่มอุณหภูมิในห้องเป็น 26-27 องศาเซลเซียสได้โดยให้ความสบายไม่แพ้กัน แถมยังประหยัดเงินค่าไฟได้อีกด้วย

การปลูกผักสวนครัว


การปลูกผักสวนครัว ควรคำนึงถึง ปัจจัยต่างๆดังนี้
1. การเลือกสถานที่หรือทำเลปลูก ควรเลือกพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด อยู่ใกล้แหล่งน้ำและไม่ไกล จากที่พักอาศัยมากนักเพื่อ ความสะดวกในการปฏิบัติงานด้านการปลูก การดูแลรักษาและสะดวกในการเก็บมา ประกอบอาหารได้ทันทีตามความต้องการ
2. การเลือกประเภทผักสำหรับปลูก ชนิดของผักที่จะปลูกควรคำนึงถึงการใช้เนื้อที่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด โดยการปลูกผัก มากชนิด ที่สุดเพื่อจะได้มีผักไว้บริโภคหลายๆ อย่าง ควรเลือกชนิดของผักที่เหมาะสม กับสภาพแวดล้อมและปลูกให้ตรงกับฤดูกาล ทั้งนี้ควร พิจารณาเปอร์เซ็นต์ความงอก ของเมล็ดพันธุ์ วันเสื่อมอายุ ปริมาณหรือน้ำหนัก โดยดูจากสลากข้างกระป๋องหรือ ซองที่บรรจุ เมล็ด พันธุ์ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าเมล็ดพันธุ์นั้น ใหม่หรือเสื่อมความงอกแล้ว เวลา วันที่ผลิตถึงวันที่จะซื้อ ถ้ายิ่งนานคุณภาพเมล็ดพันธุ์จะลดลง
ฤดูการปลูก การปลูกผักควรเลือกให้เหมาะสมกับฤดูกาล เพื่อให้ได้ผักที่มีคุณภาพดี จึงควรพิจารณาเลือกปลูกผัก ดังนี้
ผักที่ควรปลูกในต้นฤดูฝน คือ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ได้แก่ หอมแบ่ง ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักบุ้ง คะน้า พริกต่างๆ มะเขือต่างๆ ผักกาดหัว ผักกาดหอม บวบ มะระ ฟักเขียว แฟง แตงกวา ข้าวโพดหวาน ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม น้ำเต้า ถั่วพู ผักบุ้งจีน กระเจี้ยบเขียว
ผักที่ควรปลูกปลายฤดูฝน ผักใดที่ปลูกต้นฤดูฝนก็ปลูกได้ผลดีในปลายฤดูฝน ยิ่งกว่านั้นยังปลูกผักฤดูหนาวได้อีกด้วย เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปม บร็อคโคลี่ ถั่วลันเตา หอมหัวใหญ่ แครอท แรดิช ผักชี ผักกาดเขียวปลี ผักกาดขาวปลี ผักกาดหอมห่อ ข้าวโพดหวาน แตงเทศ แตงโม พริกยักษ์ พริกหยวก ฟักทอง มะเขือเทศ ขึ้นฉ่าย
ผักที่ควรปลูกในฤดูร้อน ได้แก่ ผักที่ทนร้อนได้ดี และทนความแห้งแล้งพอสมควร ถึงแม้ว่าผักเหล่านี้จะทนร้อนและ ความแห้งแล้ง ได้ แต่ถ้าจะปลูกในฤดูร้อนผักบางอย่างก็ต้องรดน้ำ เช้า-เย็น ต้องพรวนดินแล้วคลุมด้วยฟางข้าว เพื่อรักษาความชุ่มชื่นไว้ให้พอ เช่น ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเทียน บวบ มะระ ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม น้ำเต้า แฟง ฟักทอง ถั่วพู คะน้า ผักกาดเขียวกวางตุ้ง ผักกาดหอม ผักชี (ผักกาดหอม และผักชีนั้นควรทำร่มรำไรให้ด้วย) ผักกาดขาวเล็ก ผักกาดขาวใหญ่ มะเขือมอญ
ผักและพืชบางอย่างที่ควรปลูกไว้รับประทานตลอดปี ได้แก่ พืชที่ทนทาน ปลูกครั้งเดียวรับประทานได้ตลอดปี เช่น สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง หอมแบ่ง แมงลัก โหระพา กะเพรา ผักตำลึง ผักบุ้งไทย กระชาย ข่า ตะไคร้ บัวบก มะแว้ง มะเขือพวง พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู มะเขือต่างๆ
วิธีการปลูกผักสวนครัว
1. การปลูกผักในแปลงปลูก มีขั้นตอน คือ
1.1 การพรวนดิน ใช้จอบขุดดินลึกประมาณ 6 นิ้ว เพื่อพรวนดินให้มีโครงสร้างดีขึ้น กำจัดวัชพืชในดินกำจัดไข่แมลง หรือโรคพืชที่ อยู่ในดิน โดยการพรวนดินตากทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน
1.2 การยกแปลง ใช้จอบพรวนยกแปลงสูงประมาณ 4-5 นิ้ว จากผิวดิน โดยมีความกว้างประมาณ 1-1.20 เมตร ส่วนความยาวควร เป็นตามลักษณะของพื้นที่หรืออาจแบ่งเป็นแปลงย่อยๆ ตามความเหมาะสม ความยาวของแปลงนั้นควรอยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้ ทั้งนี้ เพื่อให้ ผักได้รับแสงแดดทั่วทั้งแปลง
1.3 การปรับปรุงเนื้อดิน เนื้อดินที่ปลูกผักควรเป็นดินร่วนแต่สภาพดินเดิมนั้นอาจจะเป็นดินทรายหรือดินเหนียว จำเป็นต้องปรับปรุง ให้เนื้อดินดีขึ้นโดยการใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตราประมาณ 2-3 กิโลกรัม ต่อเนื้อที่ 1 ตารางเมตร คลุกเคล้าให้เข้ากัน
1.4 การกำหนดหลุมปลูก จะกำหนดภายหลังจากเลือกชนิดผักต่าง ๆ แล้วเพราะว่าผักแต่ละชนิดจะใช้ระยะปลูกที่แตกต่างกัน เช่น พริก ควรใช้ระยะ 75 x 100 เซนติเมตร ผักบุ้งจะเป็น 5 x 5 เซนติเมตร เป็นต้น
2. การปลูกผักในภาชนะ
การปลูกผักในภาชนะควรจะพิจารณาถึงการหยั่งรากของพืชผักชนิดนั้นๆ พืชผักที่หยั่งรากตื้นสามารถปลูกได้ดีในภาชนะปลูกชนิดต่างๆ และภาชนะชนิดห้อยแขวนที่มีความลึกไม่เกิน 10 เซนติเมตร คือ ผักบุ้งจีน คะน้าจีน ผักกาดกวางตุ้ง (เขียวและขาว) ผักกาดฮ่องเต้ ผักกาดหอม ผักกาดขาวชนิดไม่ห่อ (ขาวเล็ก ขาวใหญ่) ตั้งโอ๋ ปวยเล้ง หอมแบ่ง (ต้นหอม) ผักชี ขึ้นฉ่าย ผักโขมจีน กระเทียมใบ (Leek) กุยช่าย กระเทียมหัว ผักชีฝรั่ง บัวบก สะระแหน่ แมงลัก โหระพา (เพาะเมล็ด) กะเพรา (เพาะเมล็ด) พริกขี้หนู ตะไคร้ ชะพลู หอมแดง หอมหัวใหญ่ หัวผักกาดแดง (แรดิช)
วัสดุ ที่สามารถนำมาทำเป็นภาชนะปลูกอาจดัดแปลงจากสิ่งที่ใช้แล้ว เช่น ยางรถยนต์เก่า กะละมัง ปลอกซีเมนต์ เป็นต้น สำหรับภาชนะแขวนอาจใช้ กาบมะพร้าว กระถาง หรือเปลือกไม้
การปฏิบัติดูแลรักษา การดูแลรักษาด้วยความเอาใจใส่ จะช่วยให้ผักเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์จนถึงระยะเก็บเกี่ยว การดูแลรักษาดังกล่าว ได้แก่
1. การให้น้ำ การปลูกผักจำเป็นต้องให้น้ำเพียงพอ การให้น้ำผักควรรดน้ำในช่วง เช้า-เย็น ไม่ควรรดตอนแดดจัด และรดน้ำแต่พอ ชุ่มอย่าให้โชก
2. การให้ปุ๋ย มี 2 ระยะ คือ
2.1 ใส่รองพื้นคือการใส่เมื่อเวลาเตรียมดิน หรือรองก้นหลุมก่อนปลูก ปุ๋ยที่ใส่ควรเป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก คลุกในดินให้ทั่วก่อนปลูก เพื่อปรับโครงสร้างดินให้โปร่งร่วนซุย นอกจากนั้นยังช่วยในการอุ้มน้ำ และรักษาความชื้นของดินให้เหมาะสม กับการเจริญเติบโต ของพืชด้วย
2.2 การใส่ปุ๋ยบำรุง ควรใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อย้ายกล้าไปปลูกจนกล้าตั้งตัวได้แล้ว และใส่ครั้งที่ 2 หลังจากใส่ครั้งแรกประมาณ 2-3 สัปดาห์ การใส่ให้โรยบางๆ ระหว่างแถว ระวังอย่าให้ปุ๋ยอยู่ชิดต้น เพราะจะทำให้ผักตายได้ เมื่อใส่ปุ๋ยแล้วให้พรวนดินและรดน้ำทันที สูตรปุ๋ยที่ใช้กับพืชผัก ได้แก่ ยูเรีย หรือแอมโมเนียซัลเฟต สำหรับบำรุงต้นและใบ และปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ 12-24-12 สำหรับเร่งการออกดอกและผล
3. การป้องกันจำกัดศัตรูพืช ควรบำรุงรักษาต้นพืชให้แข็งแรง โดยการกำจัดวัชพืช ให้น้ำอย่างเพียงพอและใส่ปุ๋ยตามจำนวน ที่ กำหนด เพื่อให้ผักเจริญเติบโต แข็งแรง ทนต่อโรคและแมลง หากมีโรค และแมลงระบาดมากควร ใช้สารธรรมชาติ หรือใช้วิธีกลต่างๆ ในการป้องกันกำจัด เช่น หนอนต่างๆ ใช้มือจับออก ใช้พริกไทยป่นผสมน้ำฉีดพ่น ใช้น้ำคั้นจากใบหรือเมล็ดสะเดา ถ้าเป็นพวกเพลี้ย เช่น เพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย และเพลี้ยจั๊กจั่น ให้ใช้น้ำยาล้างจาน 15 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นใต้ใบเวลาเย็น ถ้าเป็น พวกมด หอย และทากให้ใช้ปูนขาว โรยบางๆ ลงบริเวณพื้นดิน
การเก็บเกี่ยว สวนครัว การเก็บเกี่ยวผัก ควรเก็บในเวลาเช้าจะทำให้ได้ผักสดรสดี และหากยังไม่ได้ใช้ให้ล้างให้สะอาด และนำเก็บไว้ในตู้เย็น สำหรับผัก ประเภทผล ควรเก็บในขณะที่ผลไม่แก่จัดจะได้ผลที่มีรสดีและจะทำให้ผลดก หากปล่อยให้ผลแก่คาต้น ต่อไปจะออกผลน้อยลง
สำหรับในผักใบหลายชนิด เช่น หอมแบ่ง ผักบุ้งจีน คะน้า กะหล่ำปี การแบ่งเก็บผัก ที่สดอ่อนหรือ โตได้ขนาดแล้ว โดยยังคงเหลือ ลำต้น และรากไว้ไม่ถอนออกทั้งต้น รากหรือต้นที่เหลืออยู่ จะสามารถงอกงาม ให้ผลได้อีกหลายครั้ง ทั้งนี้จะต้องมีการดูแลรักษา ให้น้ำและปุ๋ยอยู่ การปลูกพืชหมุนเวียนสลับ ชนิดหรือปลูกผักหลายชนิดในแปลงเดียวกัน และปลูกผักที่มีอายุเก็บเกี่ยวสั้น บ้างยาวบ้าง คละกันในแปลงเดียวกัน หรือปลูกผักชนิดเดียวกัน แต่ทยอยปลูกครั้งละ 3-5 ต้น หรือประมาณว่า พอรับประทานได้ในครอบครัว ในแต่ละครั้งที่เก็บเกี่ยว ก็จะทำให้ผู้ปลูกมีผักสดเก็บ รับประทานได้ทุกวันตลอดปี
เทคนิคการปลูกผักสวนครัวชนิดต่างๆ
1. ตระกูลแตงและตระกูลถั่ว ได้แก่ แตงกวา แตงโม แตงไทย ฟักทอง บวบ น้ำเต้า มะระ ถั่วฝักยาว ถั่วแขก และถั่วอื่นๆ
- ผักต่าง ๆ เหล่านี้มีเมล็ดค่อนข้างใหญ่ งอกเร็ว เช่น ผักประเภทเลื้อย ถ้าจะปลูกให้ได้ผลดีและดูแลรักษาง่ายควรทำค้าง
- วิธีการปลูก หยอดเมล็ดโดยหยอดในแปลงปลูก หรือภาชนะปลูก หลุมละ 3-5 เมล็ด
- เมื่อเมล็ดงอกมีใบจริง 3-5 ใบ หลังจากนั้นถอนแยกให้เหลือเฉพาะต้นที่แข็งแรง หลุมละ 2 ต้น
- ใส่ปุ๋ยยูเรียหลังเมล็ดงอก 2 อาทิตย์ เมื่อเริ่มออกดอกใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 12-24-12
- ให้น้ำสม่ำเสมอ คอยดูแลกำจัดวัชพืช และแมลงต่าง ๆ
- เริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 40-60 วัน หลังหยอดเมล็ด
2. ตระกูลกะหล่ำและผักกาด ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักกาดหัว กะหล่ำดอก และบร๊อกโคลี
- ผักตระกูลนี้มีเมล็ดค่อนข้างเล็ก บางชนิดมีราคาแพงมาก เพราะส่วนใหญ่ต้องสั่งเมล็ดมาจากต่างประเทศ
- วิธีปลูก หยอดเมล็ดเป็นหลุมๆ ละ 3-5 เมล็ด ห่างกันหลุมละ 20 เซนติเมตร หรือโรยเมล็ดบางๆ เป็นแถวห่างกันแถวละ 20 เซนติเมตร หลังหยอดเมล็ดหรือโรยเมล็ด 10 วัน หรือเมื่อมีใบจริง 2-3 ใบ ถอนแยกให้เหลือหลุมละ 2 ต้น หรือหากโรยเมล็ดเป็นแถว ให้ถอนอีกระวังระยะต้นไม่ให้ชิดกันเกินไป
- ใส่ปุ๋ยยูเรียหลังจากถอนแยกหรือทำระยะปลูกแล้ว
- หลังใส่ปุ๋ยครั้งแรก 10 วัน ใส่ปุ๋ยยูเรียครั้งที่สอง
- อายุเก็บเกี่ยวผักแต่ละชนิดแตกต่างกันเล็กน้อย เช่น คะน้า กวางตุ้ง เก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 30-45 วัน ผักกาดหัว 45-55 วัน ผักกาดขาวปลี เขียวปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี อายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50-60 วัน หลังหยอดเมล็ด
- เมื่อเก็บเกี่ยวไม่ควรถอนผักทั้งต้น เก็บผักให้เหลือใบทิ้งไว้กับต้น 2-3 ใบ ต้นและใบที่เหลือจะสามารถเจริญเติบโตให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้อีก 2-3 ครั้ง
- ข้อควรระวัง ต้องให้น้ำสม่ำเสมอ ผักตระกูลนี้มักมีปัญหาโรคแมลงค่อนข้างมาก ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด
3. ตระกูลพริก มะเขือ ได้แก่ พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า มะเขือเปราะ มะเขือยาว มะเขือพวง มะเขือเทศ
- ผักตระกูลนี้ควรมีการเพาะกล้าก่อนย้ายลงปลูกในแปลง
- การเพาะกล้า เตรียมดินในกะบะหรือในถุงพลาสติก
- หยอดเมล็ดในถุงเพาะ ถุงละ 3-5 เมล็ด ถ้าเพาะในกะบะเพาะ ควรเว้นระยะระหว่างต้น 5 เซนติเมตร ระหว่างแถว 10 เซนติเมตร
- เมื่อเมล็ดงอกแล้วมีใบจริง 2-3 ใบ ถอนแยกเหลือต้นแข็งแรงสมบูรณ์ไว้ 2 ต้น
- เมื่อกล้ามีใบจริง 5-6 ใบ หรือหลังเพาะกล้าประมาณ 30 วัน ย้ายกล้าลงแปลงปลูก
- เมื่อต้นกล้าตั้งตัวได้ หรือเริ่มเจริญเติบโต ใส่ปุ๋ยยูเรีย 1 ครั้ง
- เมื่อต้นเริ่มออกดอกใช้ปุ๋ย 15-15-15 หรือ 12-24-12
- อายุเก็บเกี่ยว มะเขือเทศประมาณ 50-60 วัน หลังย้ายกล้าและพริก มะเขือ ประมาณ 60-75 วัน หลังย้ายกล้า
4. ตระกูลผักชีและตระกูลผักบุ้ง ได้แก่ ผักชี ขึ้นฉ่าย ผักบุ้ง
- ควรนำเมล็ดแช่น้ำก่อนปลูก ถ้าเมล็ดลอยให้ทิ้งไปและนำเมล็ดที่จมน้ำมาเพาะ
- หว่านเมล็ดในแปลง โดยจัดแถวให้ระยะห่างกัน 15-20 เซนติเมตร กลบดินทับบาง ๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร สำหรับขึ้นฉ่ายไม่ต้องกลบเมล็ด เพราะเมล็ดจะเล็กมากหากเตรียมดินละเอียดเมล็ดจะแทรกตัวลงไปในระหว่างเม็ดดินได้เอง
- ผักบุ้งจะงอกใน 3 วัน ผักชีประมาณ 4-8 วัน และขึ้นฉ่าย 4-7 วัน
- เมื่อกล้างอกมีใบจริง ถอนแยกและพรวนดินให้โปร่งเสมอจนเก็บเกี่ยว
- ผักบุ้งจีนเก็บเกี่ยวได้ภายใน 15-20 วัน ผักชี 45-60 วัน และขึ้นฉ่าย 60-70 วัน
- สำหรับผักชีและขึ้นฉ่ายไม่ชอบแสงแดดจัด อาจปลูกในที่ๆ มีร่มเงาได้ แต่สำหรับผักบุ้งจีน ต้องการแสงแดดตลอดวัน
5. ตระกูลโหระพา กะเพรา แมงลัก และตระกูลผักชีฝรั่ง ได้แก่ โหระพา กะเพรา แมงลักและผักชีฝรั่ง
- เตรียมดินให้ละเอียด หว่านเมล็ดให้ทั่วแปลง ใช้ฟางกลบหรือปุ๋ยคอกที่ย่อยสลายดีแล้วโรยทับบางๆ รดน้ำตามทันทีด้วยบัวรด น้ำตาถี่
- เมล็ดจะงอกเป็นต้นกล้าภายใน 7 วัน
- เมื่อกล้าอายุ 1 เดือน ถอนแยกจัดระยะต้นให้โปร่ง หรือใช้ระยะระหว่างต้น ประมาณ 20-30 เซนติเมตร
- โหระพา กะเพรา แมงลัก เก็บเกี่ยวได้หลังหยอดเมล็ด 45-50 วัน ผักชีฝรั่ง เก็บเกี่ยวได้หลังหยอดเมล็ด 60 วัน
- สำหรับโหระพา กะเพรา และแมงลัก ในระหว่างการเจริญเติบโต ให้หมั่นเด็ดดอกทิ้งเพื่อให้ลำต้นและใบเจริญเติบโตได้เต็มที่
- ผักชีฝรั่ง ตัดใบไปรับประทาน เหลือลำต้นทิ้งไว้จะสามารถเจริญเติบโตได้อีก

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ขบวนการเด็กดี

แนะนำตัวขบวนการเด็กดี

ชื่อ:นายรัฐพล   สิทธิสงค์  ม.4/2 เลขที่ 12
โรงเรียนอาเวมารีอา อุบลราชธานี
ครูผู้สอน วีระชน  ไพสาทย์

ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีของฉัน
เคยสร้างโปรแกรม e-book ได้
 

ความคาดหวังในการใช้งานคอมพิวเตอร์
ใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด